คุยโทรศัพท์มือถือ...ปัจจัยเสี่ยงเพิ่มสถิติอุบัติเหตุ!
การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมีปัจจัยหลายประการเข้ามาเกี่ยวข้อง
ซึ่งปัจจัยด้านความพร้อมของผู้ขับขี่เป็นปัจจัยสำคัญนอกเหนือจากปัจจัยด้านสภาวะแวดล้อมและสภาพของรถ
โดยเมื่อเห็นภาพข่าวการเกิดอุบัติเหตุเรามักจะนึกถึงผู้ขับขี่ที่อยู่ในสภาพมึนเมา
หลับใน หรือไม่ชำนาญเส้นทาง
แต่ไม่เคยตระหนักถึงว่า การเสียสมาธิในขณะขับรถ ก็นับเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
โดยพฤติกรรมที่ทำให้ผู้ขับขี่เสียสมาธิ ได้แก่ การคุยกับผู้อื่น
ไม่ว่าจะคุยกับผู้โดยสารคนอื่นในรถหรือคุยและแชตโทรศัพท์มือถือ
การปรับเครื่องเสียงหรือวิทยุ การรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่ม การแต่งหน้า
แต่งตัว จัดทรงผม และการมีกิจกรรมกับเด็กเล็กที่นั่งอยู่เบาะหลัง
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เปิดเผยว่า
จากการสำรวจจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั่วประเทศระหว่างปี พ.ศ. 2548 ถึง 2555โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
พบว่าจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-15 ทุกปี จาก 21 ล้านคนในปี 2548 เป็น44 ล้านคนในปี 2555 จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่เพิ่มขึ้นนี้อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุจราจรในประเทศสูงขึ้น
ที่สำคัญ
ทางสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการวิจัยเรื่อง การสำรวจความเสี่ยงจากการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับรถยนต์ในประเทศไทย
พ.ศ. 2552 พบว่า
ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในขณะขับรถจะมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูง
โดยทั่วประเทศมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถประมาณ 11,542,723 คน มีการเกิดอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถจำนวน 729,997 คน และเกือบจะเกิดอุบัติ เหตุจำนวน 1,152,999 คน จังหวัดที่มีการใช้โทรศัพท์ขณะขับรถมากที่สุดคือ
จังหวัดราชบุรี (ร้อยละ 98.7 ของจำนวนผู้ขับรถ)
จังหวัดที่มีการใช้โทรศัพท์ขณะขับรถน้อยที่สุดคือจังหวัดพิษณุโลก (ร้อยละ 43.2 ของจำนวนผู้ขับรถ) จังหวัดที่มีการเกิดอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการใช้โทรศัพท์ในขณะขับรถมากที่สุดคือจังหวัดราชบุรี
(ร้อยละ 20.9 ของจำนวนอุบัติเหตุ)
และจังหวัดที่มีการเกิดอุบัติเหตุน้อยที่สุดคือ จังหวัดกำแพงเพชร (ร้อยละ 1.0 ของจำนวนอุบัติเหตุ)
การใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้น
เนื่องมาจาก ปัจจัยหลัก3 ประการ คือ ปัจจัยด้านกายภาพ ปัจจัยด้านการมองเห็น
และปัจจัยด้านสมาธิการตัดสินใจ การคุยโทรศัพท์โดยที่ใช้มือข้างหนึ่งถือโทรศัพท์และอีกข้างหนึ่งจับพวงมาลัย
ทำให้ไม่สามารถบังคับทิศทางของรถได้สะดวก
โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์กะทันหันเฉพาะหน้า
และหากเป็นรถที่มีระบบเกียร์ธรรมดาด้วยแล้ว ยิ่งมีความเสี่ยงเนื่องจากต้องปล่อยมือข้างที่จับพวงมาลัยมาจับที่คันเกียร์เพื่อเปลี่ยนเกียร์
หรือบางคนอาจใช้หัวไหล่หนีบโทรศัพท์ไว้กับหูซึ่งก็จะทำให้ผู้ขับขี่ไม่สามารถชำเลืองมองกระจกส่องท้ายและกระจกด้านข้างรถได้
นอกจากนี้การกดปุ่มเพื่อรับสาย
หรือการค้นหาหมายเลขหรือการกดหมายเลขเพื่อโทรฯ ออก
หรือการเปิดดูเอสเอ็มเอสหรืออีเมล ก็เป็นเหตุให้ผู้ขับขี่ต้องละสายตาจากถนน
ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงไม่กี่วินาที แต่ก็ทำให้ผู้ขับขี่ตอบสนอง เช่น
เหยียบเบรกหรือหักพวงมาลัยได้ช้าลงเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
การใช้อุปกรณ์เสริมชนิดต่าง
ๆ ที่ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถใช้งานโทรศัพท์ได้โดยไม่ต้องใช้มือสัมผัสโทรศัพท์ เช่น
การใช้บลูทูธเชื่อมสัญญาณโทรศัพท์กับเครื่องเสียงในรถ
หรือการใช้เสียงสั่งการเพื่อรับสายหรือโทรฯออกจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากปัจจัยด้านกายภาพและปัจจัยด้านการมองเห็นลงได้
แต่อย่างไรก็ตามการคุยในขณะขับรถไม่ว่าจะคุยกับผู้โดยสารที่นั่งอยู่ในรถคันเดียวกันหรือคุยโทรศัพท์โดยจะใช้อุปกรณ์เสริมจะทำให้ผู้ขับขี่เสียสมาธิและทำให้ตอบสนองต่อสัญญาณจราจรและเหตุฉุกเฉินต่าง
ๆ
ได้ช้าลงและมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้นกว่าผู้ที่มีสมาธิจดจ่ออยู่กับการขับขี่
จากการวิจัยพบว่า การสูญเสียสมาธิขณะขับขี่เป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุ
โดยการโทรศัพท์ขณะขับรถไม่ว่าจะใช้มือถือโทรศัพท์หรือใช้อุปกรณ์เสริม
ก็มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงพอ ๆ กัน คือผู้ใช้อุปกรณ์เสริมมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าการขับขี่ปกติ4 เท่า
และผู้ที่ไม่ใช้อุปกรณ์เสริมมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าการขับขี่ปกติ 5 เท่า
จะเห็นว่าการใช้อุปกรณ์เสริมที่ช่วยให้ผู้ขับขี่ไม่ต้องใช้มือถือโทรศัพท์ในขณะขับรถ
แม้จะลดความเสี่ยงจากปัจจัยทางกายภาพได้
แต่ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากการเสียสมาธินั้นยังสูงอยู่มาก
ประเทศไทยมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยว
ข้องกับการใช้โทรศัพท์มือถือในขณะขับรถ โดย พระราชบัญญัติจราจรทางบก ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2551 กล่าวไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ขับรถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับ
เว้นแต่ใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา โดยที่ผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น ซึ่งนักกฎหมายตีความพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือตามกฎหมายนี้ไว้ว่าครอบคลุมทั้งการสนทนา
กดหมายเลขเพื่อโทรฯ ออก รับสายโทรฯเข้า ฟังเพลง เล่นเกม
รับ-ส่งหรือดูข้อความหรือพิมพ์ข้อความเอสเอ็มเอส หรืออีเมล ดูภาพ และกิจกรรมอื่น ๆ
ที่โทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถทำงานได้ ถือเป็นการใช้โทรศัพท์ทั้งสิ้น
แต่การกระทำดังกล่าวจะมีความผิดเมื่อผู้ขับขี่ถือหรือจับโทรศัพท์ในขณะขับรถ
หากเพียงแต่เปิดลำโพง (สปีคเกอร์ โฟน) แล้ววางโทรศัพท์ไว้ข้าง ๆ ขณะสนทนา
หรือเปิดเพลงจากลำโพง แล้ววางโทรศัพท์ไว้ โดยไม่ได้ถือหรือจับโทรศัพท์
ก็ไม่ถือว่าครบองค์ประกอบในการทำผิดตามข้อหานี้
ข้อมูลจากการวิจัยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการใช้มือถือหรือจับโทรศัพท์ในขณะขับรถหรือไม่นั้น
ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่การคุยโทรศัพท์ในขณะขับรถทำให้ผู้ขับเสียสมาธิและมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าการขับปกติสี่เท่า
ผลงานวิจัยดังกล่าว อาจเป็นประโยชน์ในการพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย ข้อบังคับต่าง ๆ
ในอนาคต รวมทั้งเป็นข้อมูลสำหรับการเรียนการสอนในสถานศึกษา
การให้ความรู้แก่ประชาชน การรณรงค์งดใช้โทรศัพท์ในขณะขับรถ
และมารยาทในการใช้โทรศัพท์เมื่อทราบว่าคู่สนทนากำลังขับรถอยู่
เพื่อให้เกิดการขับขี่อย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ทาง ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ มีข้อแนะนำวิธีปฏิบัติเพื่อให้การขับรถมีความปลอดภัย
คือหากขับรถในระยะทางใกล้ ๆ ใช้เวลาจนถึงที่หมายไม่นานนัก
ไม่ควรรับสายหรือโทรฯออกจนกว่าจะถึงที่หมาย หากขับรถระยะทางไกลและใช้เวลานาน
ควรกำหนดจุดหยุดพัก เช่น หยุดพักทุกหนึ่งชั่วโมง
แล้วค่อยโทรศัพท์เมื่อถึงจุดหยุดพัก
หากจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์ในขณะขับรถ
ควรจอดรถข้างทางในที่ที่ปลอดภัยแล้วจึงโทรฯ
หากอยู่ในที่ที่รถติดหรือจำเป็นต้องขับรถต่อไป ควรขับชิดซ้ายและชะลอความเร็วลง
เตรียมอุปกรณ์เสริมให้พร้อมใช้งาน เมื่อเริ่มสนทนา
ควรแจ้งให้คู่สนทนาทราบว่าเรากำลังขับรถอยู่และใช้เวลาในการพูดคุยให้สั้นที่สุด
หลีกเลี่ยงเรื่องสนทนาที่ทำให้เศร้า โกรธ หงุดหงิดหรืออารมณ์เสีย
และไม่รับหรือส่งเอสเอ็มเอสหรืออีเมลในทุกกรณี
เท่านี้ก็เป็นการช่วยลดอุบัติเหตุได้อีกทางหนึ่ง
ดังนั้นในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า
ต้อนรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ขอให้ทุกคนขับขี่รถอย่างปลอดภัย ถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ
ที่สำคัญอย่าลืมท่องไว้ว่าโทรไม่ขับ รับสายต้องจอดรถ นะคะ
ข้อกฎหมายควรรู้สำหรับโทรไม่ขับ
พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (9) ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถขณะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เว้นแต่ใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา โดยที่ผู้ขับขี่ต้องไม่ถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น ซึ่งเป็นการบังคับใช้กับรถทุกชนิดทุกประเภทตามความหมายใน พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ รวมถึงรถจักรยานและรถสามล้อที่วิ่งในถนนสาธารณะ ยกเว้นรถไฟและรถราง หากจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์ควรจอดข้างทางในที่ที่สามารถจอดได้ หรือจอดในปั๊มน้ำมัน สำหรับกรณีรถติดไฟแดงหรือรถติดก็ไม่สามารถใช้โทรศัพท์ได้ในทุกกรณี ไม่ว่าจะหยิบมาโทรฯ หรือเล่นเกม เฟซบุ๊ก หรือไลน์ เพราะถือว่าอยู่ระหว่างขับขี่ เนื่องจากเครื่องยนต์ยังติดอยู่ คนขับยังควบคุมรถอยู่ การใช้คอหนีบโทรศัพท์ หรือให้คนอื่นถือโทรศัพท์มาแนบหูให้ก็ผิด ที่ทำได้คือเปิดลำโพงให้เสียงดังแล้ววางไว้ให้เป็นที่เป็นทางก่อนสนทนา หรือใช้อุปกรณ์เสริม เช่น สายฟัง หรือบลูทูธ จึงจะไม่ผิดกฎหมาย ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 400-1,000บาท
ที่มา
: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์